โหวตเลือก สัปปายะสภา แบบรัฐสภาใหม่





สัปปายะสภาสถาน


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

          เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการพิจารณาการประกวดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่า 1.2 หมื่นล้าน ย่านเกียกกาย โดยมีกลุ่มผู้เสนอแบบ 5 บริษัท ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายเข้ามาเสนองานออกแบบในครั้งสุดท้าย ได้แก่ 1.กลุ่มของนายธีรพล นิยม 2.บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด 3.นายธรรมศักดิ์ อังศุสิงห์ 4.บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชันแนล จำกัด และ 5.ผศ.วิเชษฏ์ สุวิสิทฐ์ ก่อนที่จะมีการตัดสินผลผู้ชนะเลิศ โดยคณะกรรมการตัดสิน ได้กำหนดเวลาให้แต่ละกลุ่มบริษัท ใช้เวลาการเสนองาน 1 ชั่วโมง และที่เหลืออีก 1 ชั่วโมง เป็นการซักถามของคณะกรรมการตัดสิน การพิจารณาเป็นไปอย่างเคร่งเครียด

          หลังใช้เวลาในการตัดสินเกือบ 12 ชั่วโมง  กระทั่งเวลา 23.00น. การตัดสินจึงแล้วเสร็จ โดยนายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 12 คน ที่มีทั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อย่างสถาปัตยกรรมสถาน สภาวิศวกรรม และศิลปินแห่งชาติ ได้พิจารณารายละเอียดทุกแง่มุม ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

           ในที่สุดก็ได้ผลการตัดสิน โดยการลงคะแนนของคณะกรรมการพิจารณาให้แบบอาคารรัฐสภาแบบที่ 1 "สัปปายะสภาสถาน" ของกลุ่มนายธีรพล นิยม ได้รับการคัดเลือกเป็นแบบจำลองอาคารรัฐสภาที่จะสร้างในโอกาสต่อไปถือเป็นอาคารที่ออกแบบได้อย่างเหมาะสมในทุกด้าน เป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมร่วมสมัย กับวิถีประเพณี

           ทั้งนี้ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่จะสร้างขึ้นนี้ อยู่บนพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร ย่านเกียกกาย กรุงเทพฯ วงเงินก่อสร้างทั้งหมดไม่เกิน 12,000 ล้านบาท  แบบก่อสร้างพื้นฐานกำหนดเอาไว้ว่า  ต้องคำนึงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของไทย พื้นที่ใช้สอย การประหยัดพลังงาน มีพื้นที่สีเขียว และระบบสาธารณูปโภคต่างๆด้วยรวมถึงระบบความปลอดภัย

           สำหรับ 5 กลุ่มบริษัทที่เข้ารอบการประกวดแบบอาคารรัฐสภา 5 แบบ ที่จะมีการคัดเลือกให้เหลือ 1 แบบเพื่อดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่













            แบบที่ 1 ของนายธีรพล นิยม ชื่อ "สัปปายะสภาสถาน" โดยคำว่า สัปปายะ แปลว่า สบาย ในทางธรรม หมายถึงสถานที่ประกอบกรรมดี  ซึ่งก่อนประเทศวิกฤต กษัตริย์จะสร้างสถานที่เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ โดยการดำเนินชีวิตทางโลกียะ จะมีโลกุตระคือธรรมะกำกับ ซึ่งวันนี้บ้านเมืองเกิดวิกฤตความเสื่อมศีลธรรม จึงต้องฟื้นจิตใจของคนในชาติ จึงนำหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบแผนไตรภูมิตามพุทธคติมาเป็นแรงบันดาลใจออกแบบ โดยมีอาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทย อยู่ตรงกลางอาคาร และเป็นโอกาสที่จะเป็นรัฐสภาระดับโลก ฟื้นสันติภาพ พลิกฟื้นจิตวิญญาณของมนุษย์โลก โดยการสถาปนาเขาพระสุเมรครั้งใหม่ในยุครัตนโกสินทร์

           แบบที่ 2 ของบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด ออกแบบจากแนวคิดระบบการปกครองไทย ที่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ลักษณะอาคารจะเป็นอาคารสูงสองตึกด้านซ้ายและขวา ตึกแรกเป็นที่ทำงานส.ส. ตึกที่สองเป็นที่ทำงานของ ส.ว. โดยมีห้องประชุมตรงกลางสองห้องระหว่างอาคารทั้งสองคือ ห้องประชุมรัฐสภา และห้องประชุมวุฒิสภา

           แบบที่ 3 ของนายธรรมศักดิ์ อังศุสิงห์ ภายใต้แนวคิด รัฐสภาเป็นสถาบันการปกครองที่สำคัญของไทย รัฐสภาจึงควรเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ จึงนำดอกบัวที่เป็นดอกไม้ที่คนไทยใช้ไหว้พระ มาเป็นสัญลักษณ์ โดยตัวอาคารหลักมีลักษณะเป็นดอกบัว

           แบบที่ 4 ของบริษัทดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แนวคิดจากการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองของประเทศเมื่อปีพ.ศ. 2475 มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก จึงนำเอาพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นพานที่รองรับรัฐธรรมนูญมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ซึ่งอาคารหลักก็จะมีลักษณะเป็นพานแว่นฟ้า

           แบบที่ 5 ของผศ.วิเชษฐ์ สุวิสิทฐ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลักษณะอาคารหลักเป็นอาคารสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลานด้านหน้า มีอาคารบริวาร 2 อาคาร สำหรับเป็นที่ทำงานของ ส.ส.และส.ว. มีศิลปินแห่งชาติร่วมออกแบบด้วย นอกจากนี้ยังนำแนวคิดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งวัด บ้านเรือน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมาผสมผสาน


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โหวตเลือก สัปปายะสภา แบบรัฐสภาใหม่ อัปเดตล่าสุด 1 ธันวาคม 2552 เวลา 17:15:43 55,937 อ่าน
TOP
x close